วันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

รีไซเคิล (Recycle)กับรียูส (Reuse)เหมือนกันใช่ไหม

รีไซเคิล (Recycle)กับรียูส (Reuse)เหมือนกันใช่ไหม 
ขยะนั้นเป็นปัญหาที่กำลังเป็นเรื่องเร่งด่วนอย่างมากในขณะนี้ และไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะในระดับประเทศหรือในประเทศไทยประเทศเดียวเท่านั้น แต่กำลังเป็นปัญหาที่กระจายไปอยู่ทั่วทุกมุมโลก และยังคงเป็นปัญหาที่ไม่สามารถจัดการได้อย่างเด็ดขาด จนทุกวันนี้ขยะนั้นแทบจะล้นโลกแล้วเพราะปริมาณขยะที่ประชากรบนโลกผลิตต่อหัวต่อวันนั้นมีปริมาณที่มากกว่าความสามารถในการกำจัดขยะได้ และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือเนื่องจากแต่ละประเทศก็มีวิธีการจัดการที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นการฝังกลบ หรือการเผา โดยที่ไม่ว่าการกำจัดขยะจะกระทำด้วยวิธีใดต่างก็ส่งผลกับสภาพสิ่งแวดล้อมด้วยกันทั้งสิ้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงได้เกิดแนวความคิดที่จะช่วยกำจัดขยะตั้งแต่ภาคครัวเรือนซึ่งเป็นต้นตอหลักสำคัญในการผลิตขยะ โดยวิธีการที่ใช้กำจัดนั้นเป็นที่รู้จักกันในชื่อที่ว่ารีไซเคิล (Recycle)กับรียูส (Reuse)
แนวคิดเกี่ยวกับการรีไซเคิล (Recycle) และรียูส (Reuse)นั้นจัดเป็นระบบการจัดการขยะในยุคปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นในเรื่องของการกำจัดและลดปริมาณของขยะตั้งแต่ต้นทาง เรียกได้ว่าเป็นการตัดวงจรการเกิดขยะได้เป็นอย่างดี และยังให้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจซึ่งเห็นได้จากจำนวนของขยะที่นำกลับมาแปรสภาพใหม่ และการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่อีกครั้งมีปริมาณที่มากยิ่งขึ้น ดังที่ในท้องตลาดนั้นนิยมนำเอาสินค้าที่ผลิตขึ้นจากการรีไซเคิลและการรียูสออกมาขายในรูปแบบต่างๆมากมาย รวมถึงแนวคิดนี้ยังก่อให้เกิดธุรกิจเกี่ยวกับการแยกและกำจัดขยะเกิดขึ้น ซึ่งธุรกิจประเภทนี้ก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนเป็นจำนวนมากในแต่ละปี และมีแต่จะเพิ่มปริมาณและขนาดของธุรกิจประเภทนี้มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆอีกด้วย สังเกตได้จากกิจการที่เกี่ยวข้องกับการรีไซเคิล (Recycle) และรียูส (Reuse)จะกระจายตัวอยู่ในบิเวณเดียวกับหรือบริเวณที่ใกล้กับแหล่งกำจัดหรือสุสานขยะ และถึงแม้รีไซเคิล (Recycle) และรียูส (Reuse)นั้นยังคงมีอยู่ในปริมาณที่น้อยนิดเมื่อเทียบกับปริมาณของขยะจำนวนมหาศาล แต่อย่างน้อยก็ช่วยลดปริมาณของขยะที่จะเกิดใหม่ รวมถึงลดปริมาณขยะสะสมที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นในทุกๆวันอีกด้วย
รีไซเคิล (Recycle)คืออะไร?
รีไซเคิล (Recycle) นั้นคือการนำขยะหรือวัสดุสิ่งของที่กำลังจะกลายมาเป็นขยะมาแปรสภาพด้วยการหลอมใหม่แล้วนำสิ่งที่ได้นั้นกลับมาเป็นวัสดุอย่างเดิมหรือเอากลับมาทำเป็นวัสดุใหม่ ซึ่งไม่ใช่ว่าขยะทุกประเภทจะสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ ด้วยเหตุนี้การแยกขยะจึงเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการลดขั้นตอนของการจัดเก็บ และการแยกชิ้นส่วนหรือเศษวัสดุเพื่อการนำกลับมารีไซเคิล ที่สำคัญคือวัสดุที่จะนำมารีไซเคิลนั้นจะต้องเป็นวัสดุที่สะอาดไม่มีการปนเปื้อน การแยกขยะจึงเป็นการช่วยลดขั้นตอนของการทำความสะอาดวัสดุต่างๆให้น้อยลง ทำให้ลดต้นทุนของการทำความสะอาด เช่น ค่าน้ำ ค่าแรงงาน ค่าสารเคมีต่างๆลง และยังช่วยรักษาสภาพแวดล้อมในอีกทางหนึ่งด้วย โดยขยะหรือวัสดุที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้นั้น ได้แก่ กระดาษขาว กระดาษถ่ายเอกสาร กระดาษลัง กระดาษหนังสือพิมพ์ แก้ว ขวดแก้ว ภาชนะที่ทำจากแก้ว โลหะต่างๆ และพลาสติก ซึ่งขยะแต่ละประเภทนั้นก็จะมีการแบ่งแยกย่อยลงไปอีกว่าสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้อีกหรือไม่ด้วย
รียูส (Reuse) คืออะไร?
รียูสนั้นคือการนำเอาสิ่งของเหลือใช้ หรือสิ่งของที่กำลังกลายไปเป็นขยะ หรือแม้แต่สิ่งของที่กลายไปเป็นขยะแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ โดยวิธีการของการรียูสหรือนำกลับมาใช้ใหม่นั้นอาจจะเป็นการแค่เพียงนำสิ่งของหรือวัสดุชิ้นนั้นมาใช้ใหม่เลยตรงๆโดยไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนก็ได้ เช่นการนำโต๊ะ ตู้ ที่นอน เสื้อผ้าที่เก่าแล้วจากคนอื่นๆมาใช้ใหม่ เรียกว่าเก่าของเขาแต่ใหม่ที่เรา หรือการนำเอาข้าวของเหลือใช้หรือขยะเหล่านี้มาทำความสะอาดหรือปรับเปลี่ยนให้ออกมาในรูปลักษณ์ใหม่ เช่น การนำล้อรถยนต์มาทำเป็นโต๊ะ เก้าอี้ ถังขยะ การนำเสื้อผ้าเก่ามาทำเป็นพรมเช็ดเท้า การประยุกต์นำขวดพลาสติกมาใช้เป็นแก้วน้ำ กระถางต้นไม้ หรือนำมาทำเป็นงานประดิษฐ์ เป็นต้น ซึ่งการรียูสนี้ช่วยลดการกำจัดขยะลงไปได้เป็นจำนวนมาก ทั้งยังสามารถนำมาขายเป็นรายได้ รวมถึงลดค่าใช้จ่ายในการที่ต้องไปซื้อของชิ้นใหม่มาใช้อีกด้วย เรียกว่าเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว เพราะทั้งประหยัดและยังก่อให้เกิดรายได้
จึงสามารสรุปได้ง่ายๆว่ารีไซเคิล (Recycle) และรียูส (Reuse)นั้นมีความแตกต่างกันอย่างมาก เนื่องจากรีไซเคิลนั้นจะต้องนำวัสดุที่คัดเลือกและแยกประเภทแล้วมาหลอมรวมเพื่อให้เกิดวัสดุประเภทเดิมหรือวัสดุใหม่ แล้วจึงจะสามารถนำไปใช้ได้ ในขณะที่รียูสสามารถนำกลับมาใช้ได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องผ่านการแปรสภาพเสียก่อน ซึ่งในความเป็นจริงมีผู้คนจำนวนมากที่เข้าใจว่าการรีไซเคิลนั้นคือการนำของเก่ากลับมาปรับปรุงและหรือเพื่อใช้ใหม่ ดังนั้นจึงมีการเรียกกันไปรวมๆระหว่างการแปรสภาพสิ่งของวัสดุกับการนำวัสดุมาตกแต่งเพื่อใช้ใหม่ว่ารีไซเคิล แต่ไม่ว่าจะเป็นรีไซเคิลหรือรียูส ขอเพียงช่วยลดปริมาณขยะและรักษาสิ่งแวดล้อมก็น่าจะเป็นการดีด้วยประการทั้งปวง
คุณว่าจริงมั้ย?

1 ความคิดเห็น:

  1. อ่านแล้ว พูดวนไปวนมา ไม่รู้ว่านั่งฝันเขียนหรือเปล่า

    ตอบลบ